ทำไมคนต่างจังหวัด ถึงไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ?

ช่วงนี้มีกระแสสังคมที่พูดถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เป็นประเด็นที่ทำให้เห็นว่าประชาชนมีความตื่นรู้และอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งผู้ว่าฯในประเทศไทย ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าในประเทศของเราจะมีแค่กรุงเทพฯเท่านั้น ที่ประชาชนมีสิทธิในการเลือกตั้งผู้ว่าฯของตนเองได้ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตพิเศษที่ระบุไว้ในกฏหมายของกระทรวงมหาดไทย และแน่นอนว่าในแต่ละพื้นที่ย่อมมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป เช่น ไฟดับ รถติด ภัยแล้ง ไฟป่า หรือปัญหาอื่นที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้เสมอ แต่คนในพื้นที่ไม่มีสิทธิที่จะเลือกคนในพื้นที่ที่รับรู้ปัญหาอย่างแท้จริงมาแก้ไขปัญหานี้ด้วยตนเอง แต่ในทางกลับกัน แล้วทำไมกรุงเทพ ถึงมีสิทธิเลือกคนในพื้นที่มาแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ได้ แล้วทำไมคนต่างจังหวัด ถึงไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่า ฯ ? แล้วทำไมคนกรุงเทพได้เลือกตั้งผู้ว่าราชการของตนเองโดยปราศจากการส่งคนของรัฐส่วนกลางเข้ามาบริหาร เราเชื่อว่าทุกคนก็มีคำถามแบบนี้อยู่ในหัวเช่นกัน จากข้อมูลพบว่า กทม. เป็นเมืองใหญ่ เป็นศูนย์กลางทุกอย่างของประเทศไทย เพราะการปกครองของประเทศไทยเป็นรัฐแบบรวมศูนย์ โดยการตัดสินใจในประเด็นใดก็ตามต้องถูกตัดสินใจจากรัฐที่อยู่ในกทม. รัฐบาลจึงให้กทม.จัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ในทางกลับกัน ทำไมต่างจังหวัด จึงถูกส่งคนจากส่วนกลางมาปกครองแทนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการโดยตรง ในบางครั้งการที่ส่งผู้ว่า ฯ จากส่วนกลางก็ได้กลายมาเป็นปัญหาในการทำงานในพื้นที่ บางท่านมาเป็นเพื่อรอเกษียณ หรือบางครั้งมาอยู่ได้เพียง 1 ปี แล้วก็มีการโยกย้าย ทำให้ไม่มีการพัฒนาในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม และยังมีปัญหาอีกมากที่เกิดขึ้น ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่คนต่างจังหวัดต้องได้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดของตนเอง?